ความเป็นมาของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์

กิจการปุ๋ยอินทรีย์ เมื่อย้อนกลับไปตั้งแต่ข้าพเจ้ายังเด็กอาชีพหลักของที่บ้านข้าพเจ้าคือการทำนา เมื่อข้าพเจ้ามีครอบครัวจึงมาประกอบอาชีพช่างเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2540 ได้มีเหตุเศรษฐกิจตกต่ำ  พอดีกับข้าพเจ้าได้ฟังพระราชดำรัสของในหลวงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง พระองค์ทรงดำรัสเรื่องปุ๋ยอินทรีย์ และได้ทราบปัญหาเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยใช้ยารวมถึงขั้นตอนการทำนา ล้วนแต่ทำให้ดินมีแต่การเสื่อมโทรมทั้งนั้นเช่นการใช้แต่ปุ๋ยเคมียาฆ่าหญ้าและแมลง หลังเก็บเกี่ยวก็เผาฟางไม่มีการักษาหน้าดิน  ทำให้ผลผลิตตกต่ำลง มีปัญหาเรื่องโรคและแมลงรบกวนข้าพเจ้าจึงมีความคิดที่จะทำปุ๋ยอินทรีย์ และได้ลงมือทำโดยข้าพเจ้าศึกษาข้อมูลจาก  1. ประสบการณ์จากตัวเอง          2. ตำราหลายๆเล่มและการพูดคุย 3. จากประสบการณ์ เพื่อนๆที่ทำโรงปุ๋ย 4. จากการอบรมของรัฐบาล  พอหาข้อมูลได้เพียงพอแล้วข้าพเจ้าได้ลงมือทำจากการออกแบบ โดยอาศัยวิชาช่างที่ข้าพเจ้าได้ทำอยู่ผลิตเครื่องมือปุ๋ยขึ้นมา จากนั้นข้าพเจ้าได้เริ่มหาวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น คือมูลสัตว์ต่างๆ และอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ จึงเริ่มผลิต ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดผงโดยใช้แรงงานในครอบครัวก่อน แต่มีข้อเสียอยู่คือปุ๋ยที่ทำนั้นเป็นปุ๋ยแบบผง การใช้ใส่ในนามีปัญหาคือมันค่อนข้างจะใส่ยากเพราะเป็นผงฟุ้งกระจาย  ส่วนการใส่พืชสวนนั้นใช้ได้ดีเป็นปุ๋ยรองพื้น  แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะทำเป็นเม็ดได้เพราะขาดด้านเงินทุน จนมาถึง พ.ศ.2545  ทางองค์การบริหารส่วนตำบลนราภิรมย์ได้มาแนะนำให้เข้าร่วมสรรหาสุดยอด OTOP ของตำบลนราภิรมย์มีสมาชิกเข้าร่วม  77  คนได้ร่วมเงินกันและยังมีเงินสนับสนุนจากทางรัฐบาลส่วนหนึ่งจึงได้มีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เม็ดได้ตรงความต้องการของชาวนาและยังใช้ได้ผลดีช่วยฟื้นฟูดินที่เคยเสื่อมโทรมค่อยๆกลับมาดีขึ้นนับเป็นความสำเร็จก้าวหนึ่งของตำบล หลังจากนั้นได้ก่อตั้งเป็นหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์หรือ OTOP ก็ได้มีการพัฒนาปุ๋ยให้มีรูปลักษณะต่างๆ เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ปั้นเม็ด, ปุ๋ยอินทรีย์อัดแท่ง, ปุ๋ยอินทรีย์ผง ในนามของกลุ่มเกษตรกรก้าวหน้านราภิรมย์

กระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์

การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย มีการตั้งแต่โรงงานขนาดเล็กไปจนถึงโรงงานขนาดใหญ่อยู่ทั่วประเทศ ด้วยเหตุผลที่ปุ๋ยอินทรีย์ในปัจจุบันได้พัฒนาเป็นแบบเม็ดแล้วนั้นสามารถใช้งานได้สะดวก เก็บรักษาได้นาน และขนย้ายได้ง่ายจึงเป็นข้อดีที่ต่างจากปุ๋ยอินทรีย์ชนิดผง แม้จะต้องเพิ่มกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนกว่า แต่ในทางเศรษฐกิจแล้วการนำปุ๋ยผงมาแปรรูปเป็นปุ๋ยเม็ดนั้นเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ปุ๋ยอินทรีย์ได้ทางหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น อาทิเช่น มูลสัตว์ เศษซากพืช มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการปรับปรุงบำรุงดินอีกด้วย
ในกระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จะสามารถผสมผสานวัตถุดิบได้หลากหลาย อาทิเช่น มูลสัตว์ เศษซากพืช น้ำหมักชีวภาพ หินและแร่ธรรมชาติหรือแม้กระทั่งกากเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อให้ปุ๋ยอินทรีย์เม็ดมีทั้งอินทรียวัตถุ ธาตุอาหาร จุลินทรีย์มีชีวิต ฮอร์โมน และสารปรับสภาพดิน เป็นส่วนช่วยให้ปุ๋ยอินทรีย์เม็ดมีธาตุอาหารพืชสูงขึ้น
การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของทางโรงงานนั้นมีอยู่หลายรูปแบบ คือ ปุ๋ยอินทรีย์ผง ปุ๋ยอินทรีย์อัดแท่ง ปุ๋ยอินทรีย์ปั้นเม็ด ลักษณะเม็ดปุ๋ยที่ได้จะมีความแตกต่างกันไปตามเครื่องจักรที่ใช้ผลิต การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ผงจะมีลักษณะเป็นผงละเอียดที่เกิดจากการผ่านเครื่องตีป่นและมีความชื้นเล็กน้อยที่เกิดจากการหมัก การผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดแท่งจะใช้เครื่องอัดเม็ดที่เกิดจากลูกกลิ้งอัดผ่านรูออกมาเหมือนเม็ดกิมจ๊อ การผลิตปุ๋ยปั้นเม็ดจะใช้เครื่องจักรที่เรียกว่าจานปั้นเม็ด เม็ดปุ๋ยที่ออกมาจะมีลักษณะกลมมน ก่อนที่จะนำวัสดุอินทรีย์เข้าสู่กระบวนการผลิตจะต้องผ่านขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบเหมือนกัน เช่น การหมักวัตถุดิบ การบดวัตถุดิบ
การหมักวัตถุดิบก่อนการผลิตเป็นเม็ดต้องมีการย่อยสลายโดยสมบูรณ์ก่อน ซึ่งต้องมีค่า C/N (อัตราส่วนคาร์บอน/ไนโตรเจน) อยู่ในช่วงไม่เกิน 20/1 ซึ่งมีค่าใกล้เคียงกับดิน ค่านี้หมายถึงกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์เสร็จสิ้นแล้ว เมื่อนำไปใส่ลงดินจะไม่มีจุลินทรีย์ทำงานและไม่ไปแย่งไนโตรเจนจากพืชซึ่งจะทำให้พืชไม่โต โดยปกติวัตถุดิบต่างๆ ก่อนหมักจะมีค่า C/N แตกต่างกันไป วิธีการหมักให้เกิดการย่อยสลายจะมีผลให้ค่า C/N ลดลงอยู่ในช่วงที่เหมาะสม เมื่อหมักสมบูรณ์จะไม่มีความร้อนเกิดขึ้น

การบดวัตถุดิบ ปุ๋ยที่จะทำการผลิตเป็นเม็ดต้องมีอนุภาคที่เล็ก หากมีอนุภาคที่ใหญ่เมื่อใช้งานการย่อยสลายก็ช้าไปด้วย และจะมีปัญหาในขั้นตอนการผลิตเป็นเม็ด ซึ่งการบดยิ่งบดให้เป็นลักษณะเหมือน

กระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์

ผงแป้งได้ก็จะให้ผลดี ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เม็ดจะใช้เครื่องจักรทำการแปรรูปให้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผ่านการหมักซึ่งอยู่ในลักษณะผงเปลี่ยนเป็นเม็ด ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการรวมตัวเป็นเม็ดคือตัวประสาน (binder) ซึ่งอาจเป็นน้ำหรือวัสดุต่างๆที่มีลักษณะเหนียวข้น หรือมีสภาพที่แปรเปลี่ยนเป็นกาวเชื่อมได้
แผนผังกระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปั้นเม็ด




เมื่อดูจากแผนผังสามารถแบ่งขั้นตอนการผลิตได้ ดังนี้
1. การผสม เริ่มขั้นแรกโดยการนำวัตถุดิบทั้งหมดมาผสมกันตามสูตรที่กำหนด จากนั้นนำวัตถุดิบที่เตรียมแล้วไปบดละเอียด
2. การปั้นเม็ด โดยการลำเลียงวัตถุดิบเข้าสู่จานปั้นเม็ด ฉีดด้วยน้ำจุลินทรีย์ ผสมกับธาตุอาหารที่จำเป็น เพื่อเพิ่มคุณภาพของปุ๋ย และช่วยในการปั้นเม็ด
3. อบร้อนและอบเย็น ผ่านกระบวนการอบร้อน ที่อุณภูมิไม่เกิน 150 องศา เพื่อรักษาคุณภาพ ของปุ๋ย และจุลินทรีย์จากนั้นเม็ดปุ๋ยจะถูกเป่าด้วยลมเย็น เพื่อไล่ความชื้นอีกครั้ง เพื่อให้เม็ดปุ๋ยแห้งยิ่งขึ้น
4. คัดขนาด  เม็ดปุ๋ยที่ผ่านการอบ จะถูกลำเลียงเข้าสู่เครื่องคัดแยกขนาดเพื่อให้ได้เม็ดปุ๋ยที่มีขนาดมาตรฐาน และส่วนเม็ดปุ๋ยที่ยัง ไม่ได้ขนาดก็จะถูกส่งกลับไปยังกระบวนการบดหรือปั้นเม็ดใหม่ขึ้นอยู่กับขนาดของเม็ดปุ๋ย

                5. บรรจุ เตรียมบรรจุ นำเม็ดปุ๋ยที่ได้ผ่านสายพานลำเลียงลงถังพัก เพื่อบรรจุลงกระสอบ ให้ได้น้ำหนักที่กำหนด เย็บกระสอบและนำไปเก็บไว้เพื่อเตรียมนำไปใช้ได้เลย